2.การอธิบายและยกตัวอย่าง

การอธิบายเเละยกตัวอย่าง

1. ความหมายของคำว่า “อธิบาย”
คำว่า “อธิบาย” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ( 2546 : 1324 ) ได้ให้ความหมายไว้ว่า ก. ไขความ , ขยายความ , ชี้แจง
ฉะนั้นจึงพอสรุปได้ว่าการเขียนอธิบาย คือ การเขียนไขความ การเขียนขยายความ หรือการเขียนชี้แจงนั่งเอง ซึ่งเป็นการเขียนที่มุ่งให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่งอย่างถูกต้องชัดเจน โดยมุ่งที่จะบอกว่าสิ่งนั้น ๆ มีลักษณะมีสภาพหรือข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ซึ่งผู้เขียนให้รายละเอียด เหตุผล ที่ชัดเจนน่าเชื่อถือ
2. วัตถุประสงค์ของการเขียนอธิบาย
เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้และความเข้าใจ ในเรื่องที่อธิบายอย่างละเอียด ชัดเจน ถูกต้อง ตรงตามที่ผู้เขียนอธิบายต้องการ
3. วิธีการเขียนอธิบาย
3.1 ในการเขียนอธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มีวิธีการเขียนที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่เรื่องที่เขียนอธิบาย เช่น อาจอธิบายด้วยการให้คำจำกัดความอธิบายลำดับขั้นตอน อธิบายด้วยการยกตัวอย่าง อธิบายด้วยการเปรียบเทียบ หรืออธิบายด้วยการชี้ถึงสาเหตุและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น และในบางเรื่องอาจใช้การเขียนหลายๆ วิธี รวมกันได้
3.2 ใช้ภาษาเขียนง่าย ๆ ไม่ใช่คำศัพท์ที่ต้องแปลคำโดยไม่จำเป็น เขียนให้กระชับ ชัดเจน อาจใช้ภาษาพูด มาเขียนอธิบายได้ เพื่อให้คล้ายกับการพูดคุยกัน ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องที่จะอธิบายได้เร็วยิ่งขึ้น
3.3 เขียนอธิบายอย่างตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อมวกวนสับสน ถ้าเป็นการเขียนอธิบายการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งต้องเขียนไปตามลำดับขั้นตอน
4. ตัวอย่างการเขียนอธิบาย
4.1 การเขียนอธิบายตามลำดับขั้นตอน
ไข่ตุ๋นวุ้นเส้น ต้นทุนต่ำทำกินแก้จน
สูตรในการทำ “ไข่ตุ๋น” ที่เจ็กจุ่นขายในราคาโถละ 30 บาท จะใช้ไข่ไก่ 2 ฟอง หมูสับ 50 กรัม วุ้นเส้น เห็นทอดหั่น กระเทียมเจียว ผักชี้ พริกชี้ฟ้าสุก ( แดง )
เขามีเทคนิคในการทำหรือปรุง โดยเอาไข่ไก่ตีเข้ากับน้ำซุป ( น้ำต้มกระดูกหมูหรือกระดูกไก่ก็ได้ ) โดยใช้สูตรน้ำซุปครึ่งแก้วต่อไข่ไก่ 2 ฟอง ( มากไปไข่ตุ๋นเหลว น้อยไปไข่ตุ๋นแข็งกระด้างไม่ดี ) ตีจนเข้ากัน จากนั้นก็ใส่ซอส ซีอิ๊วขาว พริกไทย ( ไม่ใส่น้ำปลาจะทำให้เกิดกลิ่นคาว )
เมื่อเครื่องปรุงไข่ตุ๋นเสร็จแล้วเอาวุ้นเส้นใส่เข้าไปคนให้เข้ากัน แล้วเอาเห็ดหอม พริกชี้ฟ้า ใส่เข้าไปคล้ายๆ กับโรยหน้าแล้วนำไปนึ่งในซึ้งนานประมาณ 20 นาที ไข่ตุ๋นก็จะสุกพอดีรับประทานพอยกออกมาจากซึ้งแล้วโรยด้วยผักชี ตักกินร้อนๆ อร่อย…เป็นอาหารเสริมสุขภาพ
ตามคำขวัญที่ว่า … บริโภคไข่ไก่ พลานามัยสมบูรณ์ ( ข้อสำคัญอย่าใส่ผงชูรส )
ที่มา : ปัญญา เจริญวงศ์. “ทำได้ไม่จน.” ไทยรัฐ, 21 กุมภาพันธ์ 2546 , หน้า 7
4.2 การเขียนอธิบายโดยให้คำนิยาม
แมวป่า
แมวป่า หรือ Jungle Cat เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เสือกระต่าย” เพราะอาหารโปรดของเจ้าแมวป่า คือ กระต่ายนั่นเอง แมวป่ามีรูปร่างและเสียงร้องคล้ายแมวบ้าน แต่มีขนาดใหญ่กว่า ขายาวกว่าเล็กน้อย และมีหูตั้งยาว นิสัยของเจ้าแมวชนิดนี้ชอบอยู่ตามป่าโปร่งที่มีต้นหญ้าสูง ๆ หรือ ตามป่าละเมาะ นอกจากนี้ มันยังชอบอยู่ใต้พุ่มไม้ใบหนา หรือพุ่มไม้ริมน้า แต่จะไม่ชอบที่จะขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ แมวป่าเป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางวัน โดยมักจะกินสัตว์เล็กต่าง ๆ อาทิ เช่น หนู กิ้งก่า กบ เขียด นก และกระต่าย เจ้าแมวป่าจะมีอายุยืนประมาณ 10 ปีเศษ โดยมันจะผสมพันธุ์ได้ก็ต่อเมื่ออายุประมาณ 2 ปี ตั้งท้องประมาณ 66 วัน ตกลูกครั้งละ 2 – 4 ตัว และมีลูกได้ปีละ 2 ครั้ง
ที่มา : “ชีวิตสัตว์โลก.” ไทยรัฐ, 8 มิถุนายน 2546 , หน้า 13
4.3 การเขียนอธิบายจากสาเหตุไปสู่ผลลัพธ์
น้ำหวานเข้มข้น…อันตราย
นอกจากสิ่งและรสชาติอร่อยแล้วสีสันที่น่ารับประทานนับเป็นสัมผัสแรกที่เป็นแรงดึงดูดใจผู้บริโภค สีที่ใช้ผสมอาหารตามท้องตลาดนั้น มีด้วยกัน 3 ประเภท คือ
หนึ่ง สีอินทรีย์ ที่ได้จากการสังเคราะห์ของสารเคมีประเภทต่างๆ
สอง สีอนินทรีย์ ได้จากผงถ่านที่ได้จากการเผาพืช เช่น สีดำจากกาบมะพร้าวเผา
สาม สีที่ได้จากธรรมชาติ เช่น สีแดงจากกระเจี๊ยบ ครั่งหรือสีเขียวจากใบเตย
เจ้าสีผสมอาหารที่อาจก่อปัญหาแก่ผู้บริโภค คือ สารอินทรีย์ เนื่องจากมีโครงสร้างมีแต่ละชนิด มีโลหะหนักเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดสี เช่น ตะกั่ว สารหนู โครเมียม สังกะสี แต่ถ้าหากใช้ตามปริมาณที่กฎหมายกำหนดจะไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
แต่หากผู้ผลิตอาหารใช้สีอินทรีย์มากเกินไป ผู้บริโภคก็มีโอกาสได้รับโลหะหนักปริมาณมากขึ้น ทำให้เกิดการสะสมในร่างการจนเป็นอันตรายได้ เช่น
สารหนู เมื่อเข้าสู่ร่างกายและสะสมอยู่ตามกล้ามเนื้อ กระดูก ผิวหนัง ตับ ไต จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและเกิดความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร โลหิตจาง
ส่วนสารตะกั่ว จะมีพิษต่อระบบประสาททั้งแบบเฉียบพลัน และเรื้อรัง
วันนี้สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างน้ำหวานเข้มข้นจำนวน 6 อย่างเพื่อวิเคราะห์หาปริมาณของสีสังเคราะห์ปรากฏว่ามี 3 ตัวอย่าง ที่พบว่ามีปริมาณของสีผสมอาหารเกินข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข
ที่กำหนดให้อาหารประเภทเครื่องดื่ม ไอศกรีม ลูกกวาด และขนมหวาน เดิมสีปองโซ 4 อาร์ ( สีแดง )
ได้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่ออาหารในลักษณะที่จะใช้บริโภค 1 กิโลกรัม
เห็นอย่างนี้แล้วอดห่วงผู้บริโภคและเด็กไม่ได้ เพราะปัจจุบันน้ำหวานเข้มข้นที่มีให้เลือกหลากสีสัน กำลังเป็นที่นิยมและมีขายอยู่ทั่วไปคงต้องฝากผู้ผลิตทั้งหลายว่าควรระมัดระวังการใช้เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
ส่วนผู้บริโภคเองก็ต้องสังเกตสักนิด น้ำหวานเข้มข้นหรืออาหารที่มีสีฉูดฉาดเกินไป หากเลี่ยงได้ก็จะดี…
ที่มา : “มันมากับอาหาร : น้ำหวานเข้มข้น…อันตราย.” ไทยรัฐ, 20 มิถุนายน 2546, หน้า 7.
4.4 การเขียนอธิบายโดยใช้ตัวอย่าง
การปลูกไม้ดอกไม้ประดับให้งามสมดังใจปรารถนานั้น ผู้ปลูกต้องศึกษาลักษณะธรรมชาติการเจริญเติบโตของต้นไม้แต่ละชนิดให้ถ่องแท้ก่อนแล้วจึงปลูกและบำรุงรักษาให้ตรงกับลักษณะธรรมชาตินั้น ๆ ตัวอย่าง เช่น หากจะปลูกบอนสีต้องรู้ว่าบอนสีต้องการความชื้นสูง ไม่ชอบแสงแดดจัด เจริญงอกงามในที่ร่มรำไร ดังนั้นเวลาปลูก จึงต้องปลูกในที่ร่มรำไร และให้น้ำมากจนชุ่มพอ บอนสีจึงจะงามสมดังใจผู้ปลูก หากจะปลูกกุหลาบต้องทราบว่ากุหลาบเป็นต้นไม้ชอบแดดจัด ชอบดินที่ระบายน้ำได้ดี ดังนั้นผู้ปลูกกุหลาบก็ต้องวางกระถางหรือปลูกด้วยหญ้าไซแห้งแช่น้ำจนชุ่มจึงจะเจริญงอกงาม หากจะปลูกต้นไม้ประเภทแคคตัส ก็ต้องทราบว่าต้นไม้ต้องการน้ำน้อยชอบแสงแดดมาก การดูแลรักษา จึงฉีดน้ำฝอยให้ก็เพียงพอ หากรดน้ำทุกวันเช่นต้นไม้อื่น แคคตัสจะเน่าตายหมด
ตัวอย่าง : การเขียนอธิบาย
เรื่อง “หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-บุ๊ก (B-book)”
E-book หนังสือไฮเทค
นักวิจัยจากฮิวเลทท์ แพ็กการ์ด ได้พัฒนาวิทยาการใหม่ซึ่งเป็นต้นแบบของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรืออี- บุ๊ก ที่ย่อมาจาก Eletronic book มีขนาดไม่ใหญ่ไปกว่าขนาดของหนังสือนัก แต่บรรจุข้อมูลได้มากมาย เรียกว่าเป็นห้องสมุดขนาดย่อมได้เลยทีเดียว อี- บุ๊ก มีขนาดหนาเพียง 1 ซม. ดูๆ ไปก็คล้ายกับคอมพิวเตอร์มือถือ นักวิจัยที่พัฒนาอี- บุ๊กนี้ กล่าวว่า “ พวกเราพยายามค้นหาสิ่งที่เหมือนหนังสือที่จะให้ข้อมูลแกผู้บริโภคมากที่สุด จึงได้พัฒนามาเป็นอี-บุ๊ก สิ่งประดิษฐ์ขนาดเล็กที่ใช้คอมพิวเตอร์ตามมาตรฐาน USB ”
อี- บุ๊ก เป็นหนังสือไฮเทคที่นอกจากจะบรรจุข้อมูลได้มากเหมือนห้องสมุดที่มีหนังสือเป็นร้อย ๆ เล่มแล้ว การใช้งานยังง่ายอีกด้วย โดยใช้ระบบสัมผัสทางหน้าจอ ซึ่งเวลาอ่านอี – บุ๊ก คนอ่านก็สามารถเปลี่ยนหรือพลิกหน้าหนังสือง่ายกว่าอ่านหนังสือของจริงเสียอีก เพียงแต่แตะบริเวณแถบริ้วยาว
ด้านหน้าเท่านั้นเครื่องก็จะเปลี่ยนหน้าทันที นอกจากนี้ ยังสามารถซูมบริเวณเรื่องที่อยากอ่านให้ชัดเจนได้อีกด้วย แต่ปัญหาหลักของอี - บุ๊ก อยู่ที่ว่าหน้าจอเป็นคอมพิวเตอร์ ซึ่งถ้าใช้เวลาอ่านไปนานๆ แล้ว ทำให้เกิดอาการปวดตาได้
ที่มา : “วิทยาการเด็ก : E-book หนังสือไฮเทค.” ไทยรัฐ, 31 สิงหาคม 2546 , หน้า 13.